พระราชดำริเกี่ยวกับโครงการหน่วยแพทย์พระราชทาน

This slideshow requires JavaScript.

ในการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพบว่าราษฎรเป็นจำนวนมากขาดการดูแลรักษาในด้านสุขภาพอนามัย โครงการหน่วยแพทย์พระราชทานจึงได้ถือกำเนิดขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๐ ครั้งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานไปประทับแรม ณ พระราชวังไกลกังวล หัวหิน ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดเจ้าหน้าที่แพทย์ พยาบาล เครื่องมือ เครื่องใช้ ตลอดจนยารักษาโรค ออกทำการตรวจรักษาและพยาบาลราษฎรโดยไม่คิดมูลค่า ในท้องถิ่นกันดารในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี ราชบุรี และประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งขณะนั้นยังไม่มีหน่วยแพทย์ทางราชการเข้าไปถึง และครั้งนั้น ทรงพบอีกว่า ราษฎรป่วยเป็นโรคฟันและโรคในช่องปากจำนวนมาก จึงโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งหน่วยทันตกรรมพระราชทาน ประกอบด้วยทันตแพทย์ ทันตนามัย รถยนต์ขนาดใหญ่ ๑ คัน มีเก้าอี้ทำฟัน ตลอดจนเครื่องมือทำฟันครบชุด ออกทำการตรวจและรักษาโรคฟันให้แก่ราษฎรพร้อมกับหน่วยแพทย์เคลื่อนที่
ต่อมา เมื่อมีการเสด็จแปรพระราชฐานไปประทับแรมเพื่อเยี่ยมราษฎรในพื้นที่ต่างๆ โครงการพระราชดำริด้านการแพทย์ จึงได้ขยายขอบข่ายออกไปอย่างกว้างขวาง ซึ่งอาจแบ่งตามลักษณะงานได้เป็น ๒ ประการ คือ
๑. การให้การบำบัดรักษาโดยการตรวจจากคณะแพทย์พระราชทาน ซึ่งอาจแบ่งออกได้ดังนี้
๑.๑ แพทย์ประจำพระองค์ และแพทย์ตามเสด็จ นำโดยนายแพทย์ประจำพระองค์ จะตามเสด็จไปทำการตรวจรักษาราษฎรที่เสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมตามหมู่บ้านต่างๆ
๑.๒ หน่วยแพทย์หลวงของกองแพทย์หลวง สำนักพระราชวังและเจ้าหน้าที่
๑.๓ คณะแพทย์ตามพระราชประสงค์ เป็นแพทย์อาสาที่มาจากหลายสาขาวิชา หลายหน่วยงาน ทั้งจากส่วนกลางและส่วนภูมิภาค โดยเสด็จพระราชดำเนินไปปฏิบัติหน้าที่ร่วมกับคณะแพทย์อื่นๆ และแพทย์ที่ประจำตามหน่วยรักษาพยาบาลท้องถิ่น คือโรงพยาบาลของจังหวัดที่เสด็จแปรพระราชฐานไปประทับแรม ซึ่งได้แก่ โรงพยาบาลสกลนคร โรงพยาบาลนราธิวาส และโรงพยาบาลค่ายกาวิละ จังหวัดทหารบกเชียงใหม่ คณะแพทย์ตามพระราชประสงค์นับว่าเป็นคณะที่มีจำนวนมากที่สุด จากหลายสาขาวิชา อาจแบ่งได้เป็นดังนี้
๑.๓.๑ คณะแพทย์อาสาจากราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย
๑.๓.๒ คณะศัลยแพทย์อาสา จากโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า
๑.๓.๓ คณะศัลยแพทย์อาสา จากโรงพยาบาลศิริราช
๑.๓.๔ คณะแพทย์ หู คอ จมูก และโรคภูมิแพ้
๑.๓.๕ หน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่ จากกรมแพทย์ทหารบก
๑.๓.๖ คณะจักษุแพทย์
แพทย์พระราชทานดังกล่าว จะจัดชุดทำงานตามสถานที่ต่างๆ ดังนี้
๑. ที่โรงพยาบาลประจำจังหวัดที่พระราชนิเวศน์ตั้งอยู่ ได้แก่ โรงพยาบาลสกลนคร โรงพยาบาลนราธิวาส และโรงพยาบาลค่ายกาวิละ จังหวัดทหารบกเชียงใหม่
๒. บริเวณที่ตรวจโรคหน้าภูพานราชนิเวศน์ และทักษิณราชนิเวศน์
๓. ตามเสด็จพระราชดำเนินไปรักษาพยาบาลยังหมู่บ้านต่างๆ
ราษฎรเจ็บป่วยดังกล่าว หาไม่จำเป็นต้องรับเป็นคนไข้ในโรงพยาบาล แพทย์จะให้การรักษาพยาบาลที่จำเป็นและถูกต้องอย่างดีที่สุด ในกรณีที่มีอาการเจ็บป่วยในขั้นที่ต้องรับการรักษาในโรงพยาบาล ก็พระราชทานพระมหากรุณา ให้ราษฎรเหล่านั้นเป็นคนไข้ในพระบรมราชานุเคราะห์ เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลในต่างจังหวัดหรือโรงพยาบาลในกรุงเทพมหานคร ทั้งนี้ แล้วแต่ความเห็นของแพทย์ผู้ตรวจวินิจฉัยโรคและความรุนแรงของโรคที่กำลังเป็นอยู่ในขณะนั้น โดยมีราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระบรมราชินีนาถ เป็นผู้รับสนองไปดำเนินการปฏิบัติ
ผู้ป่วยที่รับการรักษาอยู่ในโรงพยาบาลประจำจังหวัดที่พระตำหนักตั้งอยู่ จะได้รับการเยี่ยมเยียนติดตามเอาใจใส่จากเจ้าหน้าที่จากกองราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระบรมราชินีนาถเป็นระยะๆ จนกว่าผู้ป่วยเหล่านั้นจะออกจากโรงพยาบาลไป
หน่วยงานที่รับผิดชอบดำเนินการเกี่ยวกับผู้ป่วยด้านธุรการ (นอกจากการตรวจรักษา) คือ กองราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระบรมราชินีนาถ ซึ่งจะดำเนินการตั้งแต่การรับผู้ป่วยเข้าโรงพยาบาล จนถึงส่งผู้ป่วยกลับภูมิลำเนา ผู้ป่วยจะได้รับการติดตามดูแลจากเจ้าหน้าที่แผนกคนไข้ของกองราชเลขานุการฯ ดังกล่าว การพระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์แก่ราษฎรเจ็บป่วยเหล่านี้ มิได้จำกัดเฉพาะตัวผู้ป่วยเองเท่านั้น หากยังครอบคลุมไปถึงครอบครัวของผู้ป่วยด้วย เช่น ผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการรักษาในกรุงเทพมหานคร บางรายต้องมีภาระเลี้ยงดูบิดา มารดา ที่ชราแล้ว หรือบุตรที่ยังเล็กอยู่ กองราชเลขานุการฯ จะจัดการฝากฝังให้มีผู้ดูแลบุคคลเหล่านั้นไว้แทนผู้ป่วย โดยอาจส่งเงินค่าเลี้ยงดูไปให้หรือฝากฝังให้เจ้าหน้าที่ไปเยี่ยมเยียนดูแล แล้วรายงานมาให้ทราบเป็นระยะๆ เป็นต้น หากผู้ป่วยเจ็บป่วยจนไม่สามารถเลี้ยงดูบุตรต่อไปได้ หรือพิการ หรือเสียชีวิต บุตรที่อยู่ในวัยศึกษาเล่าเรียนก็จะได้รับพระราชทานการศึกษาตามสมควรอีกด้วย
๒. การอบรมหมอหมู่บ้านตามพระราชดำริ นอกจากหน่วยแพทย์พระราชทานที่จะรักษาพยาบาลผู้ป่วยระหว่างเสด็จพระราชดำเนินไปยังที่ต่างๆ แล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงห่วงใยราษฎรเหล่านั้นว่า หลังจากเสด็จพระราชดำเนินกลับกรุงเทพมหานครแล้ว เมื่อมีการเจ็บไข้ได้ป่วยจะไม่มีใครดูแลเพราะอยู่ในท้องถิ่นห่างไกล การคมนาคมไม่สะดวก จึงมีพระราชดำริให้คัดเลือกราษฎรอาสาสมัครตามหมู่บ้านต่างๆ มารับการอบรมหลักสูตรหมอหมู่บ้าน โดยเริ่มต้นที่จังหวัดเชียงใหม่เป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. ๒๕๒๕ ทั้งนี้ เพื่อให้ราษฎรที่ได้รับการอบรมเหล่านี้ได้นำความรู้กลับไปช่วยเหลือประชาชนในท้องถิ่นของตน การอบรมจะเน้นในเรื่องการสาธารณสุขมูลฐาน เช่น การปฐมพยาบาลเบื้องต้น การเวชศาสตร์ป้องกันอย่างง่ายๆ การโภชนาการ (โดยเฉพาะแม่และเด็ก) การติดต่อกับเจ้าหน้าที่รักษาพยาบาลของรัฐ คือ สถานีอนามัยจนถึงโรงพยาบาล อำเภอและจังหวัด เจ้าหน้าที่ที่มาให้การสนับสนุนในการอบรมมาจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งพลเรือนและทหาร ทั้งฝ่ายปกครอง และฝ่ายการแพทย์ สถานที่ดำเนินการฝึกอบรม ได้แก่ โรงพยาบาลประจำจังหวัดที่พระราชนิเวศน์ตั้งอยู่ ซึ่งได้แก่ โรงพยาบาลสกลนคร โรงพยาบาลนราธิวาส โรงพยาบาลค่ายกาวิละ จังหวัดทหารบกเชียงใหม่
งานทั้งสองลักษณะข้างต้น มีพื้นที่ครอบคลุมในภาคเหนือตอนบน ประมาณ ๑๐ จังหวัด คือ เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน พะเยา ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน อุตรดิตถ์ และพิษณุโลก ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ๘ จังหวัด คือ สกลนคร นครพนม อุดรธานี หนองคาย มุกดาหาร มหาสารคาม กาฬสินธุ์ เลย และในภาคใต้ ๔ จังหวัด คือ นราธิวาส ยะลา ปัตตานี สงขลา
อ้างอิง